ส่งเสริมให้ลูกรักในการอ่าน

การป้องกันการติดโซเชียลมีเดียด้วยการเรียนรู้จากการอ่านหนังสือ

ในสังคมของโลกยุคปัจจุบันนี้ โซเชียลเน็ตเวิร์กได้เข้ามามีอิทธิพลเป็นอย่างมากในการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้ผู้คนมีการพูดคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนที่อยู่รอบตัวน้อยลง

ด้วยการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ ทำให้โซเชียลมีเดียสามารถเข้าถึงและมีอิทธิพลต่อเด็กได้ง่าย เพราะสิ่งเหล่านี้สามารถสร้างความสนุก ความน่าสนใจ และความแปลกใหม่ให้กับเด็กได้ แต่ถ้ามากเกินความจำเป็นอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโต และการละเลยการเรียน โดยเฉพาะการเรียนรู้จากการอ่านได้

การอ่านนั้นส่งผลดีต่อเด็กอย่างไรบ้าง

ข้อมูลจาก แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้อธิบายไว้ว่า เด็กไทยในปัจจุบันมีค่าเฉลี่ยของการอ่านหนังสือที่น้อยลงเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะเทคโนโลยีการสื่อสาร ‘โซเชียลมีเดีย’ ต่างๆ ที่เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของเด็กมากขึ้น เด็กจะเรียนรู้และให้ความสนใจ กับโทรศัพท์ โทรทัศน์ และคอมพิวเตอร์ มากกว่าการอ่านหนังสือ

แต่รู้หรือไม่ว่าการอ่านหนังสือช่วยพัฒนาทางด้านความคิด พัฒนาการเรียนรู้ของเด็กให้เด็กเติบโตและเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ง่าย และยังสร้างสมาธิ ทั้งองค์ความรู้ ความคิด และข้อมูลต่างๆ ได้ในเวลาเดียวกัน และที่สำคัญการอ่านช่วยในการพัฒนาตนเองอีกด้วย

ซึ่งคุณสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ได้กล่าวว่า การอ่านสามารถป้องกันภัยจากการติดโซเชียลมีเดียได้ แต่ไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องเป็นเกราะสำคัญในการกลั่นกรองสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่เริ่มต้นการเติบโตของเขา ตัวอย่างเช่น กระแสการเล่นเกมโปเกม่อนโกที่กำลังได้รับกระแสนิยม ซึ่งหลายครอบครัวก็มีความกังวล เพราะอาจส่งผลให้ลูกติดเกมมากจนเกินไป พ่อแม่จึงต้องพูดคุยกับลูกในการสร้างกฎกติกาในการเล่นเกม เช่น กำหนดเวลา กำหนดวันในการเล่น หรือเฉพาะเจาะจงเกมที่สามารถเล่นได้และไม่ส่งผลเสีย

ส่งเสริมให้ลูกรักในการอ่าน

“การป้องกันการติดโซเชียลมีเดียที่พ่อแม่สามารถช่วยสร้างพัฒนาการด้านสมองที่ดีให้กับลูก ด้วยการเรียนรู้จากการอ่านหนังสือ อย่างที่ สสส. มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการอ่าน ด้วยการส่งเสริมให้สร้างสังคมแห่งการอ่านอย่างต่อเนื่อง เพราะการอ่านช่วยสร้างมิติสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งจะช่วยหนุนการสร้างเสริมสุขภาวะด้านอื่นๆ ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ และสังคมได้อีกด้วย” คุณสุดใจ กล่าว

ทั้งนี้ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. ยังกล่าวต่อว่า การอ่านที่จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีอย่างเต็มที่ ต้องเริ่มต้นจากอ่านหนังสือนิทานให้เขาฟังตั้งแต่อยู่ในครรภ์ สร้างจินตนาการให้กับเขาด้วยการออกเสียง และการได้รับความรักความห่วงใยของพ่อแม่ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เขามีพัฒนาที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

การส่งเสริมให้ลูกรักในการอ่านทำได้ง่ายๆ คือ

1.อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ตั้งแต่ลูกอยู่ในท้อง 6-7 เดือนแรก จนถึงปฐมวัย โดยการชี้ชวนให้ลูกดูภาพ ได้สนใจได้สัมผัสความละเมียดละไมของหนังสือ ให้ลูกได้สัมผัสความสุขตั้งแต่แรกๆ จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการและการเติบโตได้เป็นอย่างดี

2.เสริมสร้างอิสระให้กับลูก เช่น ลูกชอบหนังสือแบบไหนคอยหมั่นสังเกตความชอบของลูก แล้วให้เขาอ่านแนวที่เขาชอบจะยิ่งทำให้เขาชอบในการเรียนรู้จากหนังสือมากขึ้น ถือเป็นต้นทุนสำรองที่ต้องหมั่นเติมเชื้อไฟให้เขาตลอด

3.สร้างแรงบันดาลใจ พาลูกไปเจอคนที่เป็นแบบอย่างหรือไอดอลของเขาบ้าง เด็กที่เป็นนักอ่านเขาจะมีคนที่เป็นนักเขียนในดวงใจ ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันในการให้ความสนใจกับการอ่านของเขามากยิ่งขึ้น

4.อย่าละเลยโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเกม ต้องเลือกเกมที่เหมาะสมกับวัยให้เขาเล่น เล่นอย่างระมัดระวัง และกำหนดเวลาที่แน่นอนให้กับเขา เพื่อให้เขาสนใจการเรียนรู้ในด้านการอ่านมากกว่า

“ทุกช่วงวัยของเด็กสามารถดึงดูดและเข้าหาโซเชียลมีเดีย มีเดียได้ง่าย ซึ่งช่วงที่สำคัญของพัฒนาการของลูกอย่างแท้จริงนั้นคือก่อน 6 ขวบ และ 9-12 ขวบ พ่อแม่ต้องเรียนรู้และเสริมสร้างการอ่านให้แก่ลูก และรับมือกับโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย เพื่อพัฒนาศักยภาพสมองของลูกให้เติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพที่ในการเรียนรู้จากการอ่านมากกว่าเรียนรู้จากสื่อต่างๆ” คุณสุดใจ เผย

เมื่อทราบอย่างนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นหัวใจสำคัญในเสริมสร้างสิ่งดีๆ ให้แก่ลูก ในการเติบโตอย่างมีคุณภาพ และมีพัฒนาการที่ดี ลูกก็จะได้รับทั้งความรัก ความห่วงใยและความปลอดภัยต่างๆ ซึ่งเกิดจากความเอาใจใส่ของพ่อแม่

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ minoterie-morineau.com

Releated